วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมาช้านานแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาทุกสถาบันจะต้องสวมเสื้อครุยในวันพิธีรับปริญญา แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้เด็กอนุบาลยังมีการใส่ชุดครุยรับประกาศนียบัตรกันเลย
ครุย เป็นเสื้อคลุมทับด้านนอก ใช้สวมเพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ แสดงถึงหน้าที่ในพิธีการ หรือแสดงวิทยฐานะ ธรรมเนียมการสวมเสื้อครุยของไทยเรานั้นไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าได้รับแบบมาจากที่ใด แต่การคาดคะเนกันว่า
การสวมเสื้อครุย น่าจะเริ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนที่พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ขณะนั้นท่านราชทูตแต่งกายด้วยการสวมเสื้อเยียรบับ มีกลีบทอง ดอกไม้ทอง และสวมเสื้อครุย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชกำหนดเสื้อครุย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ. 130 กำหนดเสื้อครุยข้าราชการไว้ 3 ชั้น เรียกว่า ครุยเสนามาตย์ แบ่งเป็นชั้น ตรี โท เอก
และนอกจากนี้ยังมีครุยวิทยฐานะ สำหรับผู้สำเร็จวิชาการจากมหาวิทยาลับ หรือสิทยาลัยชั้นสูง เสื้อครุยวิทยฐานะมีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยประมาณ ร.ศ. 116 ในสมัยที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ 5 ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โดยให้ผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตมีสิทธิสวมเสื้อครุย โดยเรียกว่าเสื้อเนติบัณฑิต
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2473 แก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แล้วหลังจากนั้นต่อมา บัณฑิตจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงได้มีการสวมครุยในวันเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมากระทั่งทุกวันนี้